SEARCH

ข่าวประชาสัมพันธ์

สอวช. จัดบูทแนะนำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และสิทธิประโยชน์ด้านการพัฒนากำลังคน ในงาน Automation & Robotic Day 2024 ณ สถาบันไทย-เยอรมัน จ.ชลบุรี

27 มกราคม 2567 189

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมจัดบูทแนะนำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และสิทธิประโยชน์ด้านการพัฒนากำลังคน ในงาน "Automation & Robotic Day 2024 ภายใต้แนวคิด "The Future of Industrial Digital Transformation" จัดโดย สถาบันไทย-เยอรมัน หนึ่งในหน่วยงานส่วนขยายของแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง (STEM One-Stop Service: STEM OSS) ทางด้าน Automation & Robotic ที่ได้ร่วมกับคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) และหน่วยงานพันธมิตร จัดงานในครั้งนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต บริหารจัดการ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมไปสู่ยุคดิจิทัล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2567 ณ สถาบันไทย-เยอรมัน จังหวัดชลบุรี ภายในงานมีการตั้งบูทประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลของ STEM OSS ให้แก่ผู้สนใจ โดยคณะทำงานศูนย์ประสานงาน STEM OSS ได้ให้คำแนะนำการใช้งานแพลตฟอร์มแก่บริษัทและผู้ประกอบการที่มองหาการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการผ่านการ Reskill/Upskill และบุคลากรทักษะสูงในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ รวมถึงประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการขอรับรองการจ้างงานภายใต้มาตรการ Thailand Plus Package นอกจากนี้ ยังได้อธิบายแนวทางการรับนักศึกษาฝึกงานเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในจังหวัดได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการ (Co-creation) ซึ่งจากกิจกรรมดังกล่าว คาดว่าจะมีบริษัทและผู้ประกอบการในระดับจังหวัดที่สนใจเข้ารับบริการจาก STEM OSS เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการขยายผลการดำเนินงานของแพลตฟอร์มให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นด้วย

สอวช. จัดบูทแนะนำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และสิทธิประโยชน์ด้านการพัฒนากำลังคนในงาน Agro FEX 2023 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช จ.นครราชสีมา

2 พฤศจิกายน 2566 235

สอวช. จัดบูทแนะนำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และสิทธิประโยชน์ด้านการพัฒนากำลังคน ในงาน Agro FEX 2023 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช จ.นครราชสีมา . สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา จัดกิจกรรมคลินิกให้คำปรึกษาด้านการจัดหาและฝึกอบรมบุคลากรในโรงงาน ภายในงาน “Agro FEX 2023” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ณ Korat Hall ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้คำปรึกษาแก่บริษัทและผู้ประกอบการในระดับจังหวัด สร้างการรับรู้สิทธิประโยชน์และกลไกสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้เกิดการยกระดับความสามารถของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบจากภาครัฐ . โดย คณะทำงานศูนย์ประสานงานแพลตฟอร์มพัฒนากำลังสมรรถนะสูง (STEM One-Stop Service: STEM OSS) ได้ให้คำปรึกษาแก่บริษัทผู้ประกอบการที่มองหาบุคลากรทักษะสูงในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ แนะนำการใช้งานแพลตฟอร์มเพื่อช่วยหาบุคลากรทักษะสูง รวมถึงให้คำปรึกษาเรื่องการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ (Reskill/Upskill) และแนวทางการรับนักศึกษาฝึกงานเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในจังหวัดได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการ (Co-creation) รวมถึงจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะด้าน (Industrials Training Center) . ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการตั้งบูทประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลของ STEM OSS ให้แก่ผู้สนใจ โดยคาดว่าจะมีบริษัทและผู้ประกอบการในระดับจังหวัดที่สนใจเข้ารับบริการจาก STEM OSS เพิ่มมากขึ้น และเป็นการขยายผลการดำเนินงานของแพลตฟอร์มให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง  

⚡️สัมมนาฟรี⚡️ สร้างตัวตน Influence คน ด้วย Personal Branding ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ฟรี (จำนวนจำกัด)❗️

8 กันยายน 2566 429

⚡️สัมมนาฟรี⚡️ สร้างตัวตน Influence คน ด้วย Personal Branding ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ฟรี (จำนวนจำกัด)❗️ > สนใจลงทะเบียนคลิกเลย การจะเป็นคนทำงานที่ทุกองค์กรต้องการตัว น่าเชื่อถือ มีความมั่นใจ สามารถพูดและโน้มน้าวให้ทุกคนร่วมมือได้ "ไม่ง่าย" แต่สามารถพัฒนาได้ ต้องเริ่มจากการมี Personal Branding ที่แข็งแกร่ง เรียนรู้เทคนิคการ Influence คน ผ่าน Personal Branding กับ อ.วราลักษณ์ สมัญญากุล (ครูแอน) โค้ชและที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ ที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (ICF)    

STEM One-Stop Service (STEM OSS) แนะนำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงและสิทธิประโยชน์ด้านการพัฒนากำลังคน ภายในงาน AgroFex2022 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช จ.นครราชสีมา

6 ธันวาคม 2565 671

  เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะทำงาน STEM-OSS โดย นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ร่วมกับ ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Thailand Plus Package การสนับสนุนทุนพัฒนาทักษะ BCG” เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อน BCG ในอุตสาหกรรมระดับจังหวัด และมาตรการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะและยกระดับศักยภาพบุคลากรรองรับ BCG ในงานจัดแสดงสินค้าและเกษตรแปรรูปและอาหารที่เน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวตลอดห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้ชื่องาน “AgroFlex 2022” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 4 ธันวาคม 2565 ณ Korat Hall ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช จ.นครราชสีมา เพื่อส่งเสริมให้นักอุตสาหกรรมในภาคอีสานมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 อย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร ลดการใช้ทรัพยากร และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สอดรับ BCG Model ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ตามนโยบายของรัฐบาล   ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการตั้งบูทประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลของศูนย์ประสานงานแพลตฟอร์มพัฒนากำลังสมรรถนะสูง (STEM-OSS) แก่ผู้สนใจ โดยคาดว่าจะมีบริษัทและผู้ประกอบการในระดับจังหวัดที่สนใจเข้ารับบริการจาก STEM-OSS เพิ่มมากขึ้น และเป็นขยายผลการดำเนินงานของแพลตฟอร์มให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง                

“สอวช.” โชว์ความสำเร็จ “แพลตฟอร์ม STEMPlus” มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร “พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง” ทะลุ 50,000 ราย ตั้งเป้า 100,000 ราย ในปี 2567 พร้อมเดินหน้าสร้างคนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

8 กันยายน 2566 396

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกรมสรรพากร จัดงาน “STEMPlus พัฒนาคน เสริมทัพอุตสาหกรรมไทย” ณ มิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพ ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “การพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันด้วยวิทยาการขั้นสูง” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และ สอวช. ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดทำหลักสูตรการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือหลักสูตรแซนบ็อกซ์ เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ดึงการลงทุนเข้ามาจากต่างประเทศ กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดเรามีหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติแล้ว 11 หลักสูตร เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างเร่งด่วน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป ทุกประเทศต้องปรับตัว ประเทศไทยเองก็เช่นกัน มีการปรับตัวในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคการศึกษา ซึ่งเป็นต้นทางของสร้างคนตอบโจทย์ตลาดแรงงานและความต้องการของประเทศรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรม EV อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เทคโนโลยีชีวภาพการแพทย์ เกษตรอัจฉริยะ อาหารมูลค่าสูง เทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องมีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้นักศึกษาหรือคนทำงานมีโอกาสและความเท่าเทียมกันในการพัฒนาศักยภาพทางอาชีพอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี จากการส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรม ดร.กิติพงค์  กล่าวว่า สอวช. ได้จัดทำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ส่งเสริมการปรับทักษะ ยกระดับทักษะ (Reskill Upskill) และจับคู่กำลังคนสู่การทำงานและประกอบอาชีพ คือ STEMPlus (www.stemplus.or.th) ที่มีบริการให้ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการและจ้างงานในตำแหน่งที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้ทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (สะเต็ม) ที่ได้จ้างพนักงานใหม่ สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนพนักงานไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ 150% นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองตามมาตรการ Thailand Plus Package ยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำค่าใช้จ่ายในการอบรมไปหักภาษีได้ 250% “แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงดังกล่าวนั้น สอวช. ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทบริการตอบโจทย์ตรงใจ ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) โดย สอวช.จะเข้ารับรางวัลในวันที่ 7 กันยายน นับเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราอย่างยิ่ง” ผอ.สอวช. กล่าว นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในประเทศไทยในอีก 4 – 5 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแนวใหม่มากขึ้น และจะมีคลื่นการลงทุนลูกใหญ่เข้ามาในประเทศไทยเนื่องจากในภูมิภาคอาเซียนประเทศไทยมีความโดดเด่นที่สุด ส่งผลให้การลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวเลขครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นถึง 70% มูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 360,000 ล้านบาท นอกจากนี้ทิศทางการลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ มีโครงการที่ย้ายฐานเข้ามาในประเทศไทย 100 กว่าโครงการ มีเงินลงทุน 16,000 ล้านบาท มากกว่าในช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนถึง 7 เท่า   นางสาวเสาวคนธ์ มีแสง ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร กล่าวว่า การพัฒนาประเทศโจทย์ที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องคน กรมสรรพากร ได้ออกมาตรการทางภาษีเพื่อเป็นทางลัดไปสู่เป้าหมายพัฒนากำลังคนตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างเร่งด่วน รวมถึงออกมาตรการ LTR Visa ดึงดูดกำลังคนสมรรถนะสูงจากต่างประเทศเข้ามาในไทย โดยอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่าและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 17% ด้าน ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเพิ่มเติมว่า บริการใน STEMPlus ตอบโจทย์ 3 กลุ่ม สำคัญ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบการ สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างงานบุคลากร STEM ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผ่านการรับรองไปขอลดหย่อนภาษีได้ 150% ซึ่งปัจจุบันมีการขอรับรองการจ้างงานแล้ว 4,446 ตำแหน่งงาน จาก 105 บริษัท อีกทั้งส่งบุคลากรเข้ารับฝึกอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจาก อว. สามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 250% ซึ่ง STEMPlus ได้รวบรวมรายชื่อหลักสูตร จำนวน 691 หลักสูตร จาก 70 หน่วยฝึกอบรม ซึ่งมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมแล้ว 55,130 คน โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาคนให้ได้ 100,000 คน ภายในปี 2567 กลุ่มที่ 2 นักศึกษาและบุคคลทั่วไป จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มโอกาสการได้ทำงานที่ต้องการและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น โดยปัจจุบันมีนวัตกรรมการศึกษาในรูปแบบ Higher Education Sandbox เกิดขึ้นจำนวน 11 โครงการ ซึ่งจะสามารถผลิตกำลังคนที่สอดคล้องตามความต้องการได้อย่างน้อย 20,000 คนภายในปี 2575 และกลุ่มที่ 3 หน่วยฝึกอบรม ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ตามความต้องการในหลากหลายสถานการณ์ “ปัจจุบัน กลไกการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน STEM ล่าสุดได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 777 และ ฉบับที่ 778) พ.ศ. 2566 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการจ้างงานบุคลากรด้าน STEM และการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ต่อไปอีก 3 ปี คือ พ.ศ. 2566 – 2568  คาดว่า แพลตฟอร์ม STEMPlus จะเป็นกลไกพัฒนากำลังคนรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น (non-degree) ให้ครอบคลุมในทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการ และบริการที่ตอบสนองนักลงทุนในทุกมิติ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปอีกขั้นด้วยวิทยาการขั้นสูง” รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการจากหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงาน เพื่อสร้างการรับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ และกลไกสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมไทยจากภาครัฐ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการยกระดับความสามารถของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันอุดมศึกษาแบบยั่งยืน และยังให้บริการ STEMPlus คลินิก ให้คำปรึกษาด้านการพัฒนากำลังคน และแนะแนวทางเข้าถึงสิทธิประโยชน์ อาทิ มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูงและการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง (Thailand Plus Package) ชี้เป้าให้เห็นถึงหลักสูตรที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคต ตลอดจนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการ นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่จะได้รับอีกด้วย ส่วนผู้ที่พลาดงานนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stempluls.or.th

เปิดรับคำขอรับรองการจ้างงานฯ - รับรองหลักสูตรฝึกอบรมฯ ตามมาตรการ Thailand Plus Package ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 ช่วยยกเว้นภาษีเงินได้ผู้ประกอบการ 1.5 – 2.5 เท่า ของค่าใช้จ่าย

29 พฤศจิกายน 2564 1,872

ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ หรือ Thailand Plus Packageโดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้มีการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูง ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ และยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565  กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนานโยบายสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ขอเชิญชวนสถานประกอบการและหน่วยฝึกอบรมยื่นคำขอรับรองตามมาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) ประกอบด้วย 1) บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยื่นคำขอรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ เพื่อนำไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ 150% ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่การจ้างงานลูกจ้างที่ได้รับการรับรอง และ 2) หน่วยฝึกอบรมที่มีหลักสูตรฝึกอบรมที่ตอบสนองความต้องการทักษะบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Future Skills Set) ยื่นคำขอรับรองเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลือกส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตร เนื่องจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว สามารถนำไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ 250% ของค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ยื่นคำขอรับรองการจ้างงานต้องประกอบกิจการที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ            ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายประกาศ สำหรับรายละเอียดความต้องการทักษะบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ Future Skills Set รวมถึงรายละเอียดการขอรับรองทั้งหลักสูตรฝึกอบรม และการจ้างงาน สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและยื่นคำขอรับรองได้ที่ www.stemplus.or.th หรือสอบถามได้ที่ ศูนย์ประสานงานและอำนวยความสะดวกการยื่นคำขอรับรองการจ้างงานและหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ตามมาตรการ Thailand Plus Package คุณจีรภา ปุมสันเทียะ โทรศัพท์ 08-0594-2322 e-mail : jirapa.pum@kmutt.ac.th หรือ คุณวรารัตน์ อ้อยกลาง โทรศัพท์ 09-6114-9288 e-mail : wararat.oil@kmutt.ac.th

อว. ประสานความร่วมมือ บีโอไอ – สถาบันอุดมศึกษา พัฒนาแพลตฟอร์มผลิตกำลังคนนักวิทย์-วิศวกร ตอบโจทย์ความต้องการภาคเอกชนและการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ไทย

26 ตุลาคม 2564 1,567

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานปลัด อว.  สำนักงาน        สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการระบบพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. แถลงนโยบายในประเด็น “นโยบายพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมเป็นสักขีพยานในโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อผลิตวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งในการเข้ามาช่วยงานอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ กระทรวง อว. เองอยากทำอะไรที่ตอบสนองภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเชิงยุทธศาสตร์ให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาเราทำด้าน Supply ด้านการให้ความรู้เป็นหลัก แต่โลกทุกวันนี้มีการพลิกโฉมเปลี่ยนแปลงไป เราจึงอยากขับเคลื่อนกระทรวงของเราจากทางด้าน Demand มากขึ้น ซึ่งการร่วมมือขับเคลื่อนทั้งกับ BOI และภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะขยับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศที่กำหนดให้เห็นผลชัดเจนภายในปี 2580 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า “เราจะไม่ทำอะไรไปเรื่อย ๆ แต่เราต้องมีหลักชัยที่ปักไว้แล้วไปคว้าให้ได้ โดยกระทรวง อว. มีหลักชัย มีเป้าหมายว่าเราต้องไปถึงประเทศที่การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พัฒนาแล้วในอีก 10 ปีข้างหน้า อววน. ต้องเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐและสังคม ในการช่วยขยับประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ การจัดโครงการนี้เหมือนเป็นโบนัส มีงานให้ 20,000 งานและเป็นการผลิตกำลังคนตอบโจทย์สำหรับธุรกิจโดยเฉพาะ เรามีเครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่า Sandbox ด้านการอุดมศึกษา ที่จะสามารถปลดล็อกอะไรที่ติดขัด เป็นข้อจำกัด แล้วสังเกตดูว่าเรื่องที่ปลดล็อกทำให้ดีขึ้นหรือไม่ ถ้าดีก็อาจจะถูกผลักดันเป็นมาตรฐานทั่วไป การศึกษายุคใหม่ อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่อาจารย์ นักวิจัยอย่างเดียว ลูกศิษย์ที่จบไปต้องมีงานทำและเป็น lifelong learner เรียนจบแล้วเอาไปปฏิบัติได้ หรือในอนาคตต้องผลิตคนที่ออกไปแล้วทำงานได้เลยแบบ tailor-made” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อเนก กล่าว หลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ยังได้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “อุดมศึกษากับการพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนการลงทุน” โดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “นโยบายและทิศทางการพัฒนากำลังคนในอนาคตเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทยกับการสนับสนุนการพัฒนานโยบายด้านกำลังคน” โดยได้กล่าวว่า สอวช. ได้ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนในอนาคตข้างหน้าที่จะมีจุดเน้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ ซึ่งขณะนี้ อว. มีมาตรการหลายอย่างที่สร้างคนและหลายมาตรการก็ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน โดยเราได้ทำการวิจัยรูปแบบและนโยบายการพัฒนากำลังคนว่ามีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปใน 9 ทิศทาง คือ 1) การพัฒนาคนจะค่อยๆ เปลี่ยนจากการพัฒนาฝั่ง Supply Side ไปสู่ระบบการทำงานใหม่ที่เป็น Co-Creation ที่ผู้ผลิตคนและผู้ใช้ประโยชน์มาร่วมกันจัดตั้งแพลตฟอร์ม และร่วมพัฒนาคน ทั้งในเชิงการทำงานและการลงทุนร่วมกัน 2) สมัยก่อนคนมาศึกษาเพื่อให้ได้ปริญญาบัตรไป แต่ในอนาคตจะเริ่มมองถึงเรื่องการมีงานทำ การมีอาชีพ เปลี่ยนจาก Degree-based เป็น Ability Oriented 3) ระบบการสร้างคน จะเปลี่ยนจากการผลิตแบบ Content-Based เน้นเรียนเนื้อหา เป็น Competency-Based เน้นไปที่ความสามารถ ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้เท่านั้น แต่เรียนเพื่อทำได้ด้วย 4) เมื่อก่อนเราใช้ชีวิตแบบ เกิดมา เรียนหนังสือ ทำงาน เกษียณ แต่อนาคตการศึกษาจะตอบโจทย์เรื่อง Multi-stage Life ชีวิตหลากหลายขั้นมากขึ้น วงจรของการศึกษาเปลี่ยนไป แทนที่จะผลิตเด็กตามเวลา 4 ปี ก็จะดูแลประชากรในวัยทำงาน วัยเกษียณด้วย 5) การปรับจาก Individual Institution มาเป็นระบบการทำ Credit Bank มากขึ้น ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยเริ่มทำแล้วในตอนนี้ และในอนาคตก็จะมี National Credit Bank เกิดขึ้นด้วย 6) เรื่องของการ Reach access/Open access เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาดูว่ามหาวิทยาลัยทำอะไรอยู่บ้าง และเข้ามามีส่วนร่วมกับทุกขั้นตอนของมหาวิทยาลัย 7) เปลี่ยนจาก Local perspective ไปสู่ Global มากขึ้น การสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพไปสู่ระดับสากล8) เปลี่ยนจากการกระจุกไปสู่การกระจายโอกาส ในการเข้าถึงการอุดมศึกษาได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง 9) ระบบการเงิน (Finance) ของมหาวิทยาลัยในอนาคต กำลังมีการพูดคุยกันค่อนข้างมาก จากที่เป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนผ่านด้านอุปทาน (Supply Side Financing) ตามจำนวนของเด็กในมหาวิทยาลัย จะเปลี่ยนไปสู่การดูว่าในอนาคตมหาวิทยาลัยจะผลิตคนเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจได้อย่างไร เรียกว่าเป็น Demand Directed Financing คือการใช้ความต้องการมากำหนดการให้เงินสนับสนุน โดยทั้ง 9 ทิศทางข้างต้นเป็นเทรนด์สำคัญที่ สอวช. กำลังทำงานในส่วนนี้ เพื่อให้สุดท้ายออกมาเป็นนโยบายที่จะขับเคลื่อนผลักดันตามแนวทางได้ต่อไป นอกจากนี้ ในเวทีเสวนายังได้รับเกียรติจากผู้ร่วมเสวนาอีกหลายท่านที่ได้มาแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. ได้กล่าวถึงนโยบายของกระทรวง ตามที่มีการกำหนดปรัชญาอุดมศึกษาใหม่ มีใจความสำคัญคือการพัฒนาคนแบบ Lifelong Learning การพัฒนาสมรรถนะของคน รวมถึงการพัฒนากำลังคนร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงมีความพยายามที่จะพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวด้วย เช่น โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ BOI กล่าวถึงปัจจัยด้านกำลังคนที่ส่งผลต่อการดึงดูดนักลงทุน ความเร่งด่วนในการผลิตและพัฒนากำลังคน อาทิ ช่างเทคนิค นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือนักวิจัย รวมถึงสิทธิประโยชน์จาก BOI เช่น มาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาบุคลากรทักษะสูงโดยภาคอุตสาหกรรม, เงินสนับสนุนการฝึกอบรม Advanced Technology Training เป็นต้น ด้านสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยและสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่ผลิตบัณฑิตปริญญาตรีในสายงานวิศวกรรมศาสตร์และสายวิทยาศาสตร์ สายงานละกว่า 3 หมื่นคนต่อปี มองว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญในการเรียนการสอนในบริบทที่ต่างกัน โดยมีความมุ่งหวังว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรและความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อตอบโจทย์การผลิตกำลังคนสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ในอนาคต ดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานความร่วมมือสหกิจศึกษาโลก (WACE) และรองประธานฯ ฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แลกเปลี่ยนถึงหัวใจสำคัญของภาคการศึกษา ว่าต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน แบบ Co-creation ฝั่งผู้ใช้ที่มีความต้องการต้องเข้ามาร่วมกับฝ่ายผลิตที่เป็นสถาบันการศึกษาตั้งแต่ต้น ซึ่งการเรียนแบบ Co-creation นับเป็นการใช้ความรู้แบบขาออกด้วย คือ การนำเอาความรู้ ทักษะที่มีไปใช้ในการทำงานจริง ด้าน รศ. ดร. จิรารัตน์ อนันตกูล หัวหน้าศูนย์ประสานงานและบริการเบ็ดเสร็จ (STEM One-Stop Service) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงบทบาทของศูนย์ประสานงานฯ ที่จะเข้ามาเป็นจุดเชื่อมโยง ช่วยเหลือด้านการจัดหา ผลิต และพัฒนากำลังคนให้กับผู้ประกอบการ มีบทบาทหน้าที่ในการประสานงาน เชื่อมโยงฝั่ง Demand และฝั่ง Supply วิเคราะห์ความต้องการ และบริหารจัดการข้อมูล ที่ให้ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย โดยโปรแกรมที่ศูนย์ประสานงานฯ จะช่วยเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นได้ ได้แก่ Job Positioning, Reskill/Upskill ให้แก่บุคลากรขององค์กร, Co-Creation รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ Industrial Training Center (ITC) ---------------------------------------- สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โทรศัพท์ 02 109 5432 ต่อ 730 มือถือ 08-0441-5450 (วรรณพร) 06-4474-1696 (กชวรรณ) Email: pr@nxpo.or.th / Website: www.nxpo.or.th / Facebook: https://www.facebook.com/NXPOTHAILAND/

สอวช. ร่วมกับ สำนักเคเอกซ์ มจธ. เปิดตัวแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านสะเต็ม พร้อมต่อยอดเฟส 2 ดึงเครื่องมือวัดสมรรถนะจากญี่ปุ่นช่วยคัดเลือกพนักงานก่อนเข้าทำงานจริง

25 ตุลาคม 2565 506

(12 ตุลาคม 2565) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสำนักเคเอกซ์ (Knowledge Exchange: KX) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดงานเปิดตัว STEM One-Stop Service (STEM OSS) แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ณ อาคารเคเอกซ์ ชั้น 17 ลาน X-CITE SPACE และการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงานดร.พูลศักดิ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ สอวช. ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน จัดทำแพลตฟอร์ม STEM OSS ขึ้นมา สืบเนื่องจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางการค้า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในห่วงโซ่อุปทานหรือห่วงโซ่คุณค่าด้านการผลิต ประเทศไทยจึงต้องมีการปรับตัวและพัฒนาในแง่ของการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในมิติเรื่องกำลังคน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น ส่งผลกระทบด้านการลงทุนในประเทศ ที่นักลงทุนต้องมีการตัดสินใจว่าจะเข้ามาลงทุนในไทยหรือย้ายฐานการผลิตไปในประเทศอื่น คำถามสำคัญที่ตามมาคือเรื่องของกำลังคนที่จะต้องพร้อมรองรับและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มนักลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้มีกลไกในการช่วยสนับสนุนหรือช่วยจับคู่ สร้างหรือผลิต พัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการและร่วมมือกับนักลงทุน หรือในกลุ่มนักลงทุนเดิมในประเทศ ที่ต้องการขยายกำลังการผลิตหรือขยายกิจการ ต้องการเลือกเฟ้นหาบุคลากรมากขึ้น แต่ยังไม่มีแนวทางที่จะเข้าถึงกำลังคนเหล่านี้ จึงเป็นที่มาที่เราต้องสร้างกลไกที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ และยังช่วยตอบโจทย์บัณฑิต เยาวชนคนรุ่นใหม่ของเรา ให้ได้มีอาชีพ มีงานที่ดี ตรงกับความต้องการสำหรับแพลตฟอร์ม STEM OSS เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และ สอวช. เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการพัฒนากลไกเพื่อเชื่อมโยงความสามารถในการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง จากสถาบันอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน และการร่วมกับภาคเอกชนในการวางแผนการพัฒนากำลังคนทักษะสูงในสาขาเฉพาะเจาะจงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น“มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ในช่วงที่ผ่านมีมาตรการส่งเสริมจากกรมสรรพากร ทั้งในแง่การดึงดูดให้มีการจ้างงานกำลังคนด้านสะเต็ม รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในเชิงการฝึกอบรมผ่านหลักสูตรด้านสะเต็ม ซึ่ง STEM OSS ก็จะเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกในการคัดสรรหลักสูตรที่ผ่านมาตรฐานให้ได้รับการรับรอง และเปิดให้สถานประกอบการส่งบุคลากรเข้าไปฝึกอบรม และนำค่าใช้จ่ายในการจ้างงานและการฝึกอบรม ไปขอยกเว้นภาษีเงินได้กับทางกรมสรรพากรได้ โดยปัจจุบันมีหลักสูตรที่ผ่านการรับรองแล้วกว่า 472 หลักสูตร มีบุคลากรได้รับการพัฒนาไปแล้วกว่า 15,388 คน มีการจ้างงานกำลังคนด้านสะเต็มและผ่านการรับรองจาก สอวช. แล้ว 894 ตำแหน่ง และเชื่อว่าในอนาคตจะมีการจ้างงานกำลังคนด้านสะเต็มเพิ่มมากขึ้น” ดร.พูลศักดิ์ กล่าวในการก้าวเข้าสู่เฟสที่ 2 ของแพลตฟอร์ม STEM OSS ต้องมองถึงการพัฒนามาตรการส่งเสริมการสร้างประสิทธิภาพ สร้างกระบวนการในการผลิตและพัฒนากำลังคนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสำนักเคเอกซ์ก็ได้นำเครื่องมือ Progress Report on Generic Skills (PROG) ที่ใช้ในการวัดและประเมิน Soft Skill จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาใช้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจคัดเลือกพนักงานก่อนเข้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการประเมินใน 3 ทักษะหลักคือ ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะส่วนบุคคล และทักษะในการแก้ปัญหา ซึ่ง PROG จะเข้ามาช่วยในการสรรหาบุคลากรเข้าทำงาน โดยเฉพาะทักษะด้านคนหรือด้านสังคม ช่วยในการพัฒนาบุคลากร อีกทั้งยังช่วยในการจัดทำแผนพัฒนารายบุคคลได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาการใช้แพลตฟอร์มในเฟส 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการนำเครื่องมือ PROG มาช่วยจับคู่สถานประกอบการกับผู้สมัครงานไปแล้วรวม 19 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งทางด้านวิทยาศาสตร์ 1 ตำแหน่ง ด้านเทคโนโลยี 5 ตำแหน่ง ด้านวิศวกรรมศาสตร์ 12 ตำแหน่ง และด้านคณิตศาสตร์ 1 ตำแหน่ง เมื่อมองในภาพรวมการพัฒนาแพลตฟอร์ม STEM OSS ขึ้นมาจึงถือเป็นพลังสำคัญให้กับผู้ประกอบการ ในการทำความร่วมมือกับภาคการศึกษาในการพัฒนากำลังคน และช่วยตอบโจทย์ประเทศเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่พ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ นายวรรณภพ กล่อมเกลี้ยง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักเคเอกซ์ และหัวหน้าศูนย์ประสานงานและบริการเบ็ดเสร็จ STEM OSS ยังได้แนะนำให้เห็นภาพรวมบริการของแพลตฟอร์ม ที่ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มนักศึกษาหรือบุคคลทั่วไป โดยในกลุ่มผู้ประกอบการ สามารถแจ้งความประสงค์ความต้องการกำลังคน ค้นหาหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจาก อว. และขอรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านสะเต็มได้ ส่วนของกลุ่มนักศึกษาหรือบุคคลทั่วไป สามารถฝากประวัตสำหรับการสมัครงานหรือเข้าร่วมโครงการ ค้นหาหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจาก อว. และประเมินสมรรถนะทางอาชีพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ โดย STEM OSS จะช่วยประสานงานจับคู่การจ้างงานบุคลากรสมรรถนะสูงให้แก่สถานประกอบการ ประสานงานการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรภายในองค์กร สร้างความร่วมมือในการผลิตบุคลากร ระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ประสานงานให้เกิดการจัดตั้งศูนย์ Industrial Training Center (ITC) และประสานงานด้านข้อมูลสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการสร้างความร่วมมือผ่านแพลตฟอร์ม ด้านนางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กล่าวถึงมาตรการส่งเสริมของ BOI โดยเฉพาะในกลุ่มประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน หมวดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ทั้งสิทธิประโยชน์พื้นฐานและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม STEM OSS เช่น มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับกลุ่มกิจการที่มีการวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรมหรือฝึกการทำงานนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ที่จะช่วยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องหรือมีเงื่อนไขตรงตามที่กำหนด ให้สามารถขอยกเว้นภาษีเงินได้ได้เช่นเดียวกัน เช่น กิจการสถานฝึกฝนวิชาชีพ สถานศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง หรือศูนย์บ่มเพาะด้านนวัตกรรม การจัดโครงการสนับสนุนสถาบันการศึกษา เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจเข้าใช้งานแฟลตฟอร์ม STEM OSS สามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ https://stemplus.or.th/ ----------------------------------------   สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ(สอวช.) โทรศัพท์ 02 109 5432 ต่อ 419 มือถือ 06-4474-1696 (กชวรรณ) Email: pr@nxpo.or.th / Website: www.nxpo.or.th / Facebook: https://www.facebook.com/NXPOTHAILAND/          

สอวช. จัดเต็มเปิด 95 หลักสูตรพัฒนาบุคลากรด้านสะเต็ม รองรับความต้องการทั้งปัจจุบันและอนาคต พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกอบการยกเว้นภาษีได้มากถึง 250%

21 เมษายน 2565 1,396

               ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยละนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า ตัวเลขจำนวนหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) เติบโตขึ้นมาก จากการที่ทั้งภาคมหาวิทยาลัย สถาบันอบรมทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจผลิตหลักสูตรและผ่านการรับรองตามมาตรการ Thailand Plus Package ซึ่งล่าสุดมีหลักสูตรที่ผ่านการรับรองแล้วกว่า 95 หลักสูตร จากหน่วยฝึกอบรมชั้นนำ ทั้งมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชน รวม 12 แห่ง โดยแต่ละหลักสูตรมีความสอดคล้องกับความต้องการบุคลากรของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Future Skills Set) ใน 13 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมอาหารเพื่ออนาคต, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ, อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน, และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย                          ตัวอย่างหลักสูตรที่น่าสนใจ เช่น หลักสูตร Storytelling for Brands in the Digital Age, หลักสูตร Fintech Fundamentals, หลักสูตร Data Analytics “เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล”, หลักสูตรการวิเคราะห์ผลผลิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดอย่างทันท่วงที, หลักสูตรกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสในตลาดสากล, หลักสูตรพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการอุปกรณ์ควบคุมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรม เป็นต้น                   โดยผู้ประกอบการที่ส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง สามารถนำไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ถึง 250% ของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้าง นอกจากนี้หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายและมีการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงในด้านสะเต็ม สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนของพนักงานไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ 150%            ในส่วนรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านสะเต็ม และการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้าง เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสะเต็ม สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 422 และฉบับที่ 423 ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถยื่นคำขอรับรองหลักสูตรฝึกอบรม ขอรับรองการจ้างงาน หรือเข้าดูหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองแล้ว พร้อมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stemplus.or.th    

เว็บไซต์ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็มไซต์ (Cookies) เพื่อพัฒมาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่