SEARCH

ข่าวประชาสัมพันธ์

สอวช. รับรอง 32 หลักสูตรใหม่ในการพัฒนาบุคลากรด้านสะเต็ม เดือนเมษายน ปี 2567 พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกอบการยกเว้นภาษีได้มากถึง 250% เตรียมพร้อมส่งบุคลากรเข้ามาพัฒนาทักษะกันได้เลย!

22 เมษายน 2567 35

ในเดือนเมษายนนี้ มีหลักสูตรที่น่าสนใจมากมาย ทั้งด้านดิจิทัล (Digital)  ด้านการบินและโลจิสติกส์  (Aviation and Logistics)  ด้านอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Food For the Future) และด้านการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Advanced Agriculture and Biotechnology) . หลักสูตรเหล่านี้เป็นหลักสูตรจากหน่วยฝึกอบรม ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ที่ได้รับการรับรอง ตามมาตรการ Thailand Plus Package มุ่งเน้นการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน STEM ที่สอดคล้องกับความต้องการทักษะบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Future Skills Set) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งบุคลากรเข้าอบรมในหลักสูตร ไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ถึง 250% . ตัวอย่างหลักสูตรใหม่ที่น่าสนใจ เช่น - หลักสูตร Generative AI Marketing Strategy for Productivity - หลักสูตร Generative AI Mastery for Executives - หลักสูตร การทดสอบแบบไม่ทำลายเพื่อประเมินโครงสร้างผิวพื้นจราจรสนามบิน (Nondestructive Testing in the Evaluation of Airport Pavements) - หลักสูตร อาหารเสริมสำหรับผู้ประกอบการ . ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและติดตามข้อมูลหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองเพิ่มเติมได้ที่ www.stemplus.or.th . #สอวช #NXPO #ThailandPlusPackage #FutureSkill

สอวช. ปลื้ม แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง “STEMPlus” คว้ารางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น ประจำปี 2566ประเภทบริการตอบโจทย์ตรงใจ ตอบเป้าหมายการพัฒนากำลังคนสู่อนาคต

8 กันยายน 2566 1,027

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต พร้อมตัวแทนพนักงาน สอวช. เข้ารับมอบรางวัลเลิศรัฐ ประเภทบริการตอบโจทย์ตรงใจ ระดับดีเด่น ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) โดยโครงการที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้คือ “แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ” หรือ แพลตฟอร์ม STEMPlus ดร.กิติพงค์  กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของ สอวช. ที่ กพร. ได้มอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้กับเรา ทีมงานทุกคนทุ่มเทและตั้งใจที่จะสร้างแพลตฟอร์ม STEMPlus ขึ้นมา ให้เป็นแพลตฟอร์มให้บริการขนาดใหญ่รองรับความต้องการด้านกำลังคนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยรวบรวมหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์ตามความต้องการของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เน้นการส่งเสริมการปรับทักษะ ยกระดับทักษะ (Reskill Upskill) และจับคู่กำลังคนไปสู่การทำงานและการประกอบอาชีพ ตอบโจทย์ 3 กลุ่ม สำคัญ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบการ สามารถนำค่าใช้จ่ายการจ้างงานบุคลากรด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม (STEM)  ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผ่านการรับรองไปขอลดหย่อนภาษีได้ 150% ซึ่งปัจจุบันมีการขอรับรองการจ้างงานแล้ว 4,446 ตำแหน่งงาน จาก 105 บริษัท นอกจากนี้สถานประกอบการที่ส่งบุคลากรเข้ารับฝึกอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจาก อว. สามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 250% ซึ่ง STEMPlus ได้รวบรวมรายชื่อหลักสูตร จำนวน 691 หลักสูตร จาก 70 หน่วยฝึกอบรม ซึ่งมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมแล้ว 55,130 คน โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาคนให้ได้ 100,000 คน ภายในปี 2567 กลุ่มที่ 2 นักศึกษาและบุคคลทั่วไป จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มโอกาสการได้ทำงานที่ต้องการและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น โดยปัจจุบันยังได้มีนวัตกรรมการศึกษาในรูปแบบการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox เกิดขึ้นจำนวน 11 โครงการ ซึ่งสามารถผลิตกำลังคนที่สอดคล้องตามความต้องการได้อย่างน้อย 20,000 คนภายในปี 2575 และในกลุ่มที่ 3 ตอบโจทย์หน่วยฝึกอบรม ให้ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ตามความต้องการในหลากหลายสถานการณ์

สอวช. เปิดเวทีถก พัฒนากำลังคนแรงงานทักษะสูง ตอบสนองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ชี้ โลกเปลี่ยนกติกา การศึกษาต้องปรับหลักสูตรเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลง

7 มีนาคม 2567 127

(5 มีนาคม 2567) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ในหัวข้อ “STEMPlus Platform การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย” โดยมีผู้แทนจาก สอวช. กรมสรรพากร สำนักเคเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นที่สำคัญ ในช่วงแรก ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงที่มาและความจำเป็นของ STEMPlus Platform กำลังคนสมรรถนะสูง ว่า จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าจำนวนแรงงานบางสาขาไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุน จึงได้ออกแบบ STEMPlus Platform ขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความต้องการระหว่างผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา และภาครัฐ นำไปสู่ความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันและอนาคต จากการดำเนินงานรับรองหลักสูตรฝึกอบรมและการจ้างงานทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ หรือ STEM มาตรการ Thailand Plus Package ผ่าน STEMPlus Platform มีการรับรองการจ้างงานทักษะสูงด้าน STEM แล้ว 5,725 ตำแหน่งงาน และมีเป้าหมายให้มีการจ้างงาน STEM เพิ่มขึ้นถึง 10,000 ตำแหน่งงานภายในปี 2567 ขณะที่หลักสูตรฝึกอบรมผ่านการรับรองแล้วกว่า 800 หลักสูตรซึ่งมีผู้ผ่านการฝึกอบรมในทักษะที่อุตสาหกรรมเป้าหมายมีความต้องการแล้วกว่า 80,000 ราย และคาดว่ากำลังแรงงานของไทยจะได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นถึง 100,000 ราย ภายในปี 2567 นี้อาจารย์วรรณภพ กล่อมเกลี้ยง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักเคเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้แนะนำ STEMPlus Platform บริการที่ช่วยตอบสนองความต้องการด้านกำลังคนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา และบุคคลทั่วไป อาทิ การขอรับรองการจ้างงานทักษะสูงด้าน STEM และการขอรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร มาตรการ Thailand Plus Package การแจ้งความประสงค์ความต้องการกำลังคน การเผยแพร่หลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจาก อว. การฝากประวัติสำหรับการสมัครงานหรือเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ และสถิติกำลังคนด้าน STEM รวมทั้งแนะนำสิทธิประโยชน์จากมาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ ที่ สอวช. ได้รับความไว้วางใจจากกรมสรรพากรในการพิจารณารับรองการจ้างงาน STEM และการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมที่สอดคล้องตามมาตรการ มาเป็นระยะที่ 3 ต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ. 2568 พร้อมทั้งแนวทางการยื่นคำขอฯ ให้ผ่านการรับรองนอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทย การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงและสิทธิประโยชน์สนับสนุน โดยมี นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ร่วมด้วย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. นางสาวเสาวคนธ์ มีแสง ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร และ ผศ.ดร.อรรถวิทย์ สุดแสง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนายกานต์ ได้กล่าวชื่นชมโครงการ STEMPlus ที่ช่วยพัฒนาบุคลากรทักษะสูงเพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งได้นำเสนอแพลตฟอร์มนี้ต่อเครือข่ายนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ จากผลจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD World Competitiveness Center ล่าสุด พบว่าประเทศไทยอยู่ในดับดีขึ้นในทุกปัจจัย ทั้งสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของธุรกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในด้านการศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มีอันดับที่ลดลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องมาหารือกัน เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงกติกาโดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่ในทุกอุตสาหกรรมจะต้องคำนึงถึงและปรับตัว การพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามเชื่อว่า เมื่อภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันจะสามารถก้าวข้ามผ่านไปได้อย่างแน่นอนด้าน ดร.กิติพงค์ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับประเด็นท้าทาย 4 อย่าง ได้แก่ 1. การเติบโตทางเศรษฐกิจช้า โดยเฉลี่ยในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมาเติบโตประมาณ 3.2% เท่านั้น 2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กระทบต่อเรื่องการค้าและการลงทุน บริษัทส่วนใหญ่เริ่มสร้าง green profile เวลาจะทำความร่วมมือ จึงต้องคำนึงในเรื่องนี้ ถ้าเราเข้าไปอยู่ในกติกาโลกก็ต้องมีการปรับตัวในเรื่องนี้ด้วย 3. การกระจายรายได้ ยังมีกลุ่มประชากรที่อยู่ฐานของพีระมิด โดยเฉพาะคนที่อยู่ในต่างจังหวัดและชนบท ยากต่อการขยับ เราต้องทำให้กลุ่มเหล่านี้พัฒนาขึ้น และ 4. การพัฒนาคน ที่ต้องพัฒนาแรงงานทักษะสูง เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ชูพลังศักยภาพของประเทศไทยที่จะเป็นที่หนึ่งในระดับภูมิภาคได้ใน 8 ฮับ ได้แก่ 1. ศูนย์กลางการท่องเที่ยว 2. ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ 3. ศูนย์กลางเกษตรกรรมและอาหาร 4. ศูนย์กลางการบิน 5. ศูนย์กลางการขนส่ง 6. ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต  7. ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และ 8. ศูนย์กลางการเงินด้าน นางสาวเสาวคนธ์ ได้พูดถึงมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนากําลังคน อาทิ การส่งเสริมการลงทุนด้วยการหักรายจ่ายการลงทุนระบบอัตโนมัติ (automation) สนับสนุนการจ้างงานทักษะสูง  โดยการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 17% สำหรับผู้มีทักษะและความเชี่ยวชาญ หักรายจ่ายการจ้างงานผู้มีทักษะสูงด้าน STEM ได้ 1.5 เท่า และส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยการหักรายจ่ายการส่งพนักงานในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างในหลักสูตรทักษะสูงได้ 2.5 เท่า ขณะที่ ดร.อรรถวิทย์ กล่าวว่า ในแวดวงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เราได้เตรียมรับมือกับวิกฤตด้านเทคโนโลยีมาแล้วกว่า 10 ปี และติดตามสถานการณ์ด้านดิจิทัลมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าวิกฤตด้านดิจิทัลต้องมาแน่ และยิ่งในสถานการณ์ภาวะโลกเดือด สังคมผู้สูงอายุ อัตราเกิดลดลง ยิ่งต้องเร่งวางแผนพัฒนาเด็กที่มีอยู่น้อยให้มีคุณภาพสูง ซึ่งศาสตร์ทางด้านดิจิทัล จะเป็นการเพิ่มผลิตภาพการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้มากที่สุด แต่ที่ผ่านมาหลักสูตรต่าง ๆ ไม่ได้ถูกปรับปรุงมากว่า 30 ปี ดังนั้นเพื่อสนองตอบการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างแบบเดิม จึงจำเป็นต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาคนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

สอวช. จัดบูทแนะนำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และสิทธิประโยชน์ด้านการพัฒนากำลังคน ในงาน งานแถลงข่าวเปิดตัวนโยบาย อว. For EV ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

16 กุมภาพันธ์ 2567 236

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมจัดนิทรรศการแนะนำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง STEMPlus และสิทธิประโยชน์ด้านการพัฒนากำลังคน ในงาน “งานแถลงข่าวเปิดตัวนโยบาย อว. For EV” จัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 3 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงเปิดตัวนโยบาย “อว for EV” ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของผู้ที่อยู่ในวงการอีวี  น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ทั้งนี้นโยบายนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าหมายตามโนบาย 30@30 ให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรืออีวีฮับ และ 10 อันดับแรกของโลก ผลิตยานยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย และมีเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   ภายในงานมีการจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง STEMPlus ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความต้องการระหว่างผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา และภาครัฐ นำไปสู่ความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคน การพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษา และการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้แพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ  ในการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงจากสถาบันอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน   แพลตฟอร์ม STEMPlus มีบริการและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา และบุคคลทั่วไป อาทิ การขอรับรองการจ้างงานทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ หรือ STEM และการขอรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร มาตรการ Thailand Plus Package การแจ้งความประสงค์ความต้องการกำลังคน การเผยแพร่หลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจาก อว. การฝากประวัติสำหรับการสมัครงานหรือเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ และสถิติกำลังคนด้าน STEMให้แก่ผู้สนใจ พร้อมทั้งแนะนำการใช้งานแพลตฟอร์ม โดยคาดว่าจะมีบริษัทและผู้ประกอบการในระดับจังหวัดที่สนใจเข้ารับบริการจาก STEMPlus เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการขยายผลการดำเนินงานของแพลตฟอร์มให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นด้วย

สอวช. รับรอง 79 หลักสูตรใหม่ในการพัฒนาบุคลากรด้านสะเต็มเดือนมีนาคม ปี 2567 พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกอบการยกเว้นภาษีได้มากถึง 250%

25 มีนาคม 2567 222

อัปเดตหลักสูตรใหม่แบบจัดเต็มถึง 79 หลักสูตรในเดือนมีนาคมนี้สำหรับหลักสูตรตามมาตรการ Thailand Plus Package ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ เตรียมพร้อมส่งบุคลากรเข้ามาพัฒนาทักษะกันได้เลย!.ในเดือนมีนาคมนี้ มีหลักสูตรที่น่าสนใจมากมาย ทั้งด้านดิจิทัล และด้านการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ด้านการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) และด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย.หลักสูตรเหล่านี้เป็นหลักสูตรจากหน่วยฝึกอบรม ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ที่ได้รับการรับรอง ตามมาตรการ Thailand Plus Package มุ่งเน้นการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน STEM ที่สอดคล้องกับความต้องการทักษะบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Future Skills Set) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งบุคลากรเข้าอบรมในหลักสูตร ไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ถึง 250%.ตัวอย่างหลักสูตรใหม่ที่น่าสนใจ เช่น- หลักสูตร Technology Gap Reduce with Cloud Native- หลักสูตร Cybersecurity Fundamentals- หลักสูตร Material Handing Equipment Program- หลักสูตร Clinical Evalution for Medical Devices Training Course.ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและติดตามข้อมูลหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองเพิ่มเติมได้ที่ www.stemplus.or.th.#สอวช #NXPO #ThailandPlusPackage #FutureSkill

สนใจสมัครด่วน "หลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ ChatGPT Plus"

16 มีนาคม 2567 143

สมัครด่วน ChatGPT Plus เรียนละเอียดที่สุด จบแล้วใช้งานได้อย่างมั่นใจ สร้าง prompt เองได้ ทำงานได้จริง เข้าใจพร้อมไปต่อ เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ ในทุกระดับตำแหน่ง  . ลงทะเบียนที่ https://forms.gle/EnpKFL54MREevWiUA .หรือ Facebook : AI Wisdom Educationบริษัท เอไอ วิสดอม เอ็ดดูเคชั่น จำกัด สามารถติดต่อได้ที่ คุณจุฬาลักษณ์ ( 085-351-1555 ) หรือ AIWISDOMEDUCATION@gmail.com สอนโดย ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์   

สอวช. - มรภ. อุดรธานี หารือยกระดับความสามารถกำลังคนผ่านแพลตฟอร์ม STEMPlus ร่วมกับผู้ประกอบการในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

24 พฤศจิกายน 2566 276

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรื่องสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูง ภายใต้แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง (STEMPlus) และการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานแพลตฟอร์มพัฒนากำลังสมรรถนะสูง (STEM One-Stop Service: STEM OSS)ณ ห้องประชุมสุพรรณิการ์ ชั้น 2 ศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นางสาวภาณิศา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการ STEM OSS และการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากมาตรการ Thailand Plus Package รวมทั้งมีการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการบุคลากร (Demand Analysis) ของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยมี ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ให้การต้อนรับและร่วมหารือในการพัฒนาสร้างหลักสูตรให้แก่นักศึกษาและกำลังคนในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนของกลุ่มอุตสาหกรรมในภูมิภาค ในงานนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วน อาทิ หอการค้าจังหวัดอุดรธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี สรรพากรพื้นที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 4 ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจการลงทุน ภาค 3 สมาพันธ์ SMEs ไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ประกอบการ บริษัท ห้างร้าน วิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ รวมทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี วัตถุประสงค์สำคัญในหารือในครั้งนี้ คือ การนำแพลตฟอร์ม STEMPlus การทำงานของศูนย์ STEM OSS และมาตรการ Thailand Plus Package มาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจและขยายเครือข่ายการพัฒนาความร่วมมือไปยังกลุ่มผู้ประกอบการในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในสถานประกอบการในรูปแบบReskill & Upskill ผลจากการหารือและทำความเข้าใจในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กำหนดเป้าหมายสำคัญที่จะเป็นผู้นำในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการเป็นศูนย์ STEM OSS เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงและประสานการพัฒนาบุคลากรสมรรถสูงที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้

สอวช. รับรอง 26 หลักสูตรใหม่ในการพัฒนาบุคลากรด้านสะเต็มต้อนรับปี 2567 พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกอบการยกเว้นภาษีได้มากถึง 250%

4 มกราคม 2567 365

เริ่มต้นปี 2567 กับหลักสูตรอัปเดตล่าสุดที่ผ่านการรับรองตามมาตรการ Thailand Plus Package ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ เตรียมพร้อมส่งบุคลากรเข้ามาพัฒนาทักษะกันได้เลย!.สำหรับเดือนมกราคม 2567 นี้ มีหลักสูตรอัปเดตใหม่กว่า 26 หลักสูตร ทั้งหลักสูตรด้านดิจิทัล หลักสูตรด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมถึงหลักสูตรด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน.หลักสูตรเหล่านี้เป็นหลักสูตรจากหน่วยฝึกอบรม ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ที่ได้รับการรับรอง ตามมาตรการ Thailand Plus Package มุ่งเน้นการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน STEM ที่สอดคล้องกับความต้องการทักษะบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Future Skills Set) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งบุคลากรเข้าอบรมในหลักสูตร ไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ถึง 250%    ตัวอย่างหลักสูตรใหม่ที่น่าสนใจ เช่น หลักสูตร Brandformance กลยุทธ์สร้างแบรนด์ให้เกิดยอดขาย หลักสูตร Generative AI for Leader หลักสูตรสร้างแอปแรกด้วย Appsheet  หลักสูตรการสำรวจและทำแผนที่ด้วยอากาศยานไร้คนขับ หลักสูตร Climate Change Adaptation

สอวช. จัดบูทแนะนำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และสิทธิประโยชน์ด้านการพัฒนากำลังคน ในงาน Automation & Robotic Day 2024 ณ สถาบันไทย-เยอรมัน จ.ชลบุรี

27 มกราคม 2567 184

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมจัดบูทแนะนำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และสิทธิประโยชน์ด้านการพัฒนากำลังคน ในงาน "Automation & Robotic Day 2024 ภายใต้แนวคิด "The Future of Industrial Digital Transformation" จัดโดย สถาบันไทย-เยอรมัน หนึ่งในหน่วยงานส่วนขยายของแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง (STEM One-Stop Service: STEM OSS) ทางด้าน Automation & Robotic ที่ได้ร่วมกับคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) และหน่วยงานพันธมิตร จัดงานในครั้งนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต บริหารจัดการ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมไปสู่ยุคดิจิทัล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2567 ณ สถาบันไทย-เยอรมัน จังหวัดชลบุรี ภายในงานมีการตั้งบูทประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลของ STEM OSS ให้แก่ผู้สนใจ โดยคณะทำงานศูนย์ประสานงาน STEM OSS ได้ให้คำแนะนำการใช้งานแพลตฟอร์มแก่บริษัทและผู้ประกอบการที่มองหาการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการผ่านการ Reskill/Upskill และบุคลากรทักษะสูงในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ รวมถึงประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการขอรับรองการจ้างงานภายใต้มาตรการ Thailand Plus Package นอกจากนี้ ยังได้อธิบายแนวทางการรับนักศึกษาฝึกงานเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในจังหวัดได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการ (Co-creation) ซึ่งจากกิจกรรมดังกล่าว คาดว่าจะมีบริษัทและผู้ประกอบการในระดับจังหวัดที่สนใจเข้ารับบริการจาก STEM OSS เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการขยายผลการดำเนินงานของแพลตฟอร์มให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นด้วย

เว็บไซต์ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็มไซต์ (Cookies) เพื่อพัฒมาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่