ทักษะมนุษย์-แรงงานที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19
18 ตุลาคม 2566 2,024
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงานที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม นอกจากการเรียนรู้ในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เราต้องให้ความสนใจหลังจากนี้จึงเป็นเรื่องของการเตรียมพร้อมสู่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากโควิด-19 หมดไปด้วย สอวช. จึงได้รวบรวมข้อมูลมาให้ทุกคนได้ทราบกันว่า ในโลกหลังโควิด-19 มีทักษะมนุษย์หรือทักษะแรงงานอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย
ในประเด็นเรื่องงานในอนาคต หรือ Future of Work ในยุคหลังโควิด-19 ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยรายละเอียดจากการศึกษาวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลของ สอวช. ว่า บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเป็นแบบหลายช่วง (Multistage life) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน (Disruptive technology) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demographic change) ที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังคนรูปแบบใหม่ที่มีทักษะและความรู้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมและรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ เป็นตัวเร่งให้ภาคเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบทางไกล และการเติบโตของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ที่มากขึ้นตามไปด้วย
จากผลกระทบดังกล่าว World Economic Forum (WEF) ได้ประมาณการว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 จะมีงานประมาณ 85 ล้านตำแหน่งถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร แต่ก็จะมีงานใหม่เพิ่มขึ้น 97 ล้านตำแหน่ง โดยอาชีพแห่งอนาคตส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล ระบบอัตโนมัติ และจะเป็นการผสมผสานระหว่างทักษะด้านดิจิทัลและการคิดวิเคราะห์ของมนุษย์ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติได้ ทั้งนี้อัตราการแพร่กระจายของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมากขึ้น ยิ่งทำให้การคาดการณ์ความต้องการทักษะงานทำได้ยากขึ้น และทักษะจะยิ่งล้าสมัยได้เร็วขึ้น
สำหรับตำแหน่งงานที่มีความสำคัญโดยเฉพาะภายหลังโควิด-19 ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์และนักวิเคราะห์ข้อมูล, ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักร, ผู้เชี่ยวชาญด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรหุ่นยนต์, นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน, ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล, ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการระบบอัตโนมัติ, นักวิเคราะห์ข้อมูลด้านความปลอดภัย, ผู้เชี่ยวชาญด้าน Internet of things ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่หลายหลาย อาทิ ระบบอัตโนมัติ, เทคโนโลยีคลาวด์, ข้อมูลขนาดใหญ่, Internet of things, การเข้ารหัสข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์, ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น
สอวช. ยังได้สำรวจข้อมูลตำแหน่งงานและสมรรถนะงานสำคัญที่เป็นที่ต้องการสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2563 – 2567) โดยมุ่งเน้นตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะสูง และตำแหน่งงานรูปแบบใหม่ และคำนึงถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรทักษะสูงใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายรวมกว่า 170,000 คน โดยตัวอย่างตำแหน่งงาน เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist), Crop Modelling Analyst ในอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญในวิทยาการสมัยใหม่ในลักษณะข้ามศาสตร์ และแบบสหวิทยาการ, ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing Specialist) ในการท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้สูงและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
สำหรับทักษะแห่งอนาคต ที่จะสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่รุดหน้า WEF ได้คาดการณ์ทักษะที่มีความต้องการมากที่สุดทั่วโลก 15 อันดับแรก ภายในปี 2025 ได้แก่ 1) Analytical thinking and innovation 2) Active learning and learning strategies 3) Complex problem-solving 4) Critical thinking and analysis 5) Creativity, originality and initiative 6) Leadership and social influence 7) Technology use, monitoring and control 8) Technology design and programming 9) Resilience, stress tolerance and flexibility 10) Reasoning, problem-solving and ideation 11) Emotional intelligence 12) Troubleshooting and user experience 13) Service orientation 14) Systems analysis and evaluation 15) Persuasion and negotiation
การเตรียมกำลังแรงงานเพื่อเข้าสู่ตลาดงานยังต้องคำนึงถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้แรงงานมีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดงานที่ถูกกระทบด้วยภาวะวิกฤตต่าง ๆ ได้ โดยทักษะที่จะมีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาและสร้างความเข้าใจ เพื่อมาเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ, ทักษะด้านดิจิทัล การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อรองรับการทำธุรกิจออนไลน์, ทักษะการใช้ซอฟต์แวร์ประชุมและการนำเสนองานผ่านออนไลน์ การใช้คลาวด์ เพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน, รวมถึงทักษะ soft skill อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น ความสามารถในการยืดหยุ่นและการปรับตัว ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงนวัตกรรม
นอกจากนี้ยังมีทักษะที่สำคัญแห่งโลกอนาคตอื่น ๆ ได้แก่ การสร้างความเข้าใจในเชิงลึก ความฉลาดในการเข้าสังคม ความคิดแปลกใหม่และการประยุกต์ใช้ การทำงานกับคนต่างวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ ความคิดเชิงประมวลผลหรือเชิงระบบ ความเข้าใจและตามทันโลกยุคสื่อดิจิทัล ความสามารถในการคิดออกแบบสร้างสรรค์งาน การจัดการบริหารการรับรู้ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ไม่เพียงแต่วงการทำงานเท่านั้นที่ประชาชนต้องเตรียมปรับตัวเพิ่มทักษะเพื่อรองรับการทำงานหลังโควิด-19 วงการศึกษาไทยก็ต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ในครั้งหน้า สอวช. จะพาไปถอดบทเรียนการศึกษาไทยกันบ้างว่าต้องปรับตัวอย่างไรให้สามารถขยับเท่าทันโลกได้ รอติดตามข้อมูลที่น่าสนใจได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ สอวช.
ที่มาของข้อมูล : The Future of Jobs Report 2020, World economic forumรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ปี 2564 (หัวข้อความต้องการกำลังคนคุณภาพรองรับ Disruptionสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Talent landscape), สอวช.รายงานการศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อรองรับการพลิกโฉมฉับพลันและวิกฤตการณ์โลก